“หมอธีระวัฒน์” เผย สมาคมแพทย์สหรัฐฯ จักษุวิทยา ชี้กลูโคซามีน ผลข้างเคียงทำตาบอด
นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงรายงานผลข้างเคียงจากการกิน “กูลโคซามีน” ที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะต้อหินและตาบอดว่า เป็นรายงานจากวารสารสมาคมแพทย์สหรัฐ ทางจักษุวิทยา (JAMA) เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ซึ่งได้เฝ้าระวังผู้ป่วยที่ใช้กูลโคซามีนเพื่อหวังผลในการลดอาการข้อเข่าเสื่อม โดยพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้หลังกินกูลโคซามีนจะมีภาวะความดันลูกตาสูงขึ้นอย่างชัดเจน และเมื่อหยุดกินความดันก็จะลดลง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการสั่งจ่ายกูลโคซามีนกันมาก โดยมีทั้งในรูปแบบยาและอาหารเสริม แม้ว่าที่ผ่านมาจะไม่มีผลการพิสูจน์ว่ากูลโคซามีนมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมแค่ไหน แต่ก็มีการใช้ไปเพราะเห็นว่าไม่มีโทษ แต่หลังจากมีการายงานผลข้างเคียงกูลโคซามีนที่ชัดเจน ในการใช้ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือผู้ป่วยจากนี้คงต้องระวัง เพราะจะทำให้สายตาเสื่อมลงอย่างต่อเนื่องจากภาวะต้อหินจนตาบอดในที่สุด
ทั้งนี้จากการออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ ที่ผ่านมามีบริษัทที่จำหน่วยกูลโคซามีนออกมาต่อว่าตน เพราะกระทบต่อยอดขายและการตลาด เรื่องนี้ควรต่อว่าไปยังสมาคมแพทย์สหรัฐ ทางจักษุวิทยา เนื่องจากตนเพียงแต่แปลผลการศึกษาและนำมาให้ข้อมูลต่อสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ได้โจมตีผลิตภัณฑ์ของใคร ซึ่งเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว
“ที่ผ่านมาประเทศไทยไทยให้น้ำหนักกลูโคซามีนมากและเชื่อว่ามีประโยชน์มหาศาลแม้จะไม่มีหลักฐานผลวิจัยยืนยัน และไม่ได้มีฤทธิ์เสริมสร้างข้อเข่าหรือกระดูกอ่อน”
จากการสั่งจ่ายกูลโคซาจำนวนมากจนเป็นภาระต่อระบบสวัสดิการข้าราชการ กรมบัญชีกลางจึงได้มีการประกาศให้ระงับการสั่งจ่ายกูลโคซามีน ซึ่งต่อมาศาลปกครองได้สั่งให้ยกเลิกการงับสั่งจ่ายกูลโคซามีนนั้น นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า ในช่วงที่สั่งระงับการเบิกจ่ายกูลโคซามีนนั้น เป็นข่าวใหญ่โตและได้มีการร้องเรียนยกเลิกคำสั่งนี้ ซึ่งความเห็นต่อเรื่องนี้มองว่า ในระบบรักษาพยาบาลของไทยที่มีงบประมาณจำกัด จึงควรมุ่งเลือกใช้ยาที่รักษาโรคได้โดยตรงที่มีผลการวิจัยยืนยันมากกว่า อย่างไรก็ตามกรณีที่แพทย์ที่ยังสั่งจ่ายกูลโคซามีนจะต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มักมีภาวะความดันลูกตาสูงอยู่แล้ว จึงต้องดูว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวหรือไม่ โดยเฉพาะโรคต้อหินที่ต้องติดตามดูว่ามีภาวะสายตาที่แย่งลงหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้กรมบัญชีกลางยกเลิกการระงับสั่งจ่ายกูลโคซามีน จะทำให้จำนวนการใช้เพิ่มสูงขึ้นหรือไม่ นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องนี้คิดว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย งบประมาณในการรักษาพยาบาลเป็นเงินของคนทั้งประเทศ ดังนั้นยาที่ใช้ในระบบไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบสวัสดิการข้าราชการต้องไม่แตกต่างกัน ไม่ใช้ข้าราชการจะต้องมีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ควรเน้นยาที่ใช้รักษาได้ตรงจุด ไม่ใช่ยาที่เพียงแต่ทำให้รู้สึกดีขึ้นแต่ภาวะโรคยังดำเนินไปตามปกติ
“ผมก็เป็นข้าราชการและเห็นว่า ข้าราชการดูเหมือนมีอภิสิทธิ์มากกว่าคนปกติทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของยา ซึ่งกรณีของกูลโคซามีนถือเป็นตัวอย่างที่มีผลเพียงแค่ให้ความรู้สึกผู้ป่วยดีขึ้นเท่านั้น แต่ไม่มีผลต่อการรักษาก็ยังเบิกจ่ายได้ ทั้งที่งบประมาณรักษาพยาบาลบ้านเรามีจำกัด แต่กลับต้องมาเสียเงินกับกรณีแบบนี้ ไม่แต่เฉพาะกูลโคซามีน แต่รวมถึงการเลือกเบิกจ่ายยาต้นแบบที่มีราคาแพง ทั้งที่ภายในประเทศก็ผลิตได้เอง มีคุณภาพและมาตรฐานไม่แตกต่าง และราคาถูกกว่ามาก ในฐานะข้าราชการจึงควรช่วยกันประหยัดเงินตรงนี้ เพราะป็นงบประมาณเพื่อเฉลี่ยดูแลรักษาพยาบาลคนทั้งประเทศ นอกจากนี้ไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพใด ควรที่จะใช้บัญชียาเดียวกัน โดยหากใครต้องการเลือกใช้ยาต้นแบบจะต้องจ่ายเงินเอง ไม่ควรใช้สิทธิข้าราชการมาอ้าง” นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว