งานวิจัย “มะเขือพวง” ประโยชน์มหาศาล สรรพคุณกระฉ่อนโลก

มะเขือพวงประโยชน์และสรรพคุณมะเขือพวง

มะเขือพวงจัดเป็นพืชผักสมุนไพร โดยอดีตจะเป็นพืชป่า แต่ปัจจุบันในหลายๆ ประเทศนิยมปลูกเป็นพืชผักสวนครัว ที่นิยมนำผลมาประกอบอาหาร ในประเทศไทย รู้จักมะเขือพวงมานานแล้ว โดยนิยมนำผลมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงป่า แกงคั่วปลาไหล แกงอ่อมปลาดุก แกงเขียวหวาน แกงเนื้อ น้ำพริกกะปิ  น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกไข่เค็ม ปลาร้าทรงเครื่อง ผัดเผ็ด ฯลฯ  และยังสามารถใช้เป็นผักจิ้ม ซึ่งนิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ หรืออาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ ส่วนในต่างประเทศ ชาวไอเวอรี่โคสต์นำผลมะเขือพวงใส่ซุปและซอสต่างๆ ชาวทมิฬทางใต้ของอินเดียใช้ผลแช่นมเปรี้ยวแล้วตากแห้งประกอบอาหารและใช้เป็นเครื่องเคียงอาหารแป้ง และใส่ในแกงแขกแบบทางใต้หลายชนิด ชาวลาวใช้มะเขือพวงใส่ในแกงเผ็ดเช่นกันกับประเทศไทย และในประเทศอินเดียนำน้ำมะขามแช่รากมะเขือพวงต้มดื่มลดพิษในร่างกายและใช้รักษาโรคได้อีกมากมาย

สารสำคัญที่พบในมะเขือพวง

ทอร์โวไซด์ เอ, เอช (torvoside A, H) เป็นสตีรอยด์ไกลไซด์จากผลมะเขือพวง งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลในปี พ.ศ.2545 พบว่าทอร์โวไซด์ เอช มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 (Herpes simplex virus type 1) โดยมีฤทธิ์ยับยั้งไวรัสมากกว่ายาอะไซโคลเวียร์ถึง 3 เท่า

ทอร์โวนิน บี (torvonin B) เป็นซาโพนินชนิดหนึ่ง เชื่อกันว่าทำให้มะเขือพวงมีฤทธิ์ขับเสมหะ

โซลาโซดีน (solasodine) เป็นสารที่มีสรรพคุณต้านโรคมะเร็ง จากการศึกษาวิจัยพบว่า สารโซลาโซดีนมีประสิทธิภาพยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์อันเป็นสาเหตุหลักของโรคมะเร็ง

มะเขือพวงกับเพ็กทิน

งานวิจัยพบว่า มะเขือพวงมีสารเส้นใยละลายน้ำได้ที่เรียกว่า เพ็กทิน (pectin) ซึ่งเป็นสารที่พบในผนังเซลล์ของพืช ผัก และผลไม้ต่างๆ  เมื่อผ่านการกินเพ็กทินจะเปลี่ยนรูปเป็นวุ้นไปเคลือบผิวลำไส้ และช่วยเพิ่มความหนืดของอาหาร ทำให้อาหารเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ช้า ลำไส้จึงดูดซึมแป้งและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดค่อนข้างคงที่ การดูดซึมคอเลสเตอรอลจากอาหารหรือน้ำดีลดลง และเกิดการสร้างน้ำดีขึ้นมาทดแทน

นอกจากนี้ พบว่าเพ็กทินมีคุณสมบัติดูดซับไขมันส่วนเกินจากอาหาร ลดการดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตเข้าสู่ร่างกาย สารเส้นใยนี้ยังสามารถดึงน้ำไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ และกระตุ้นให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติ ที่ลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารย่อยเพ็กทินให้กรดไขมันขนาดเล็กซึ่งเป็นประโยชน์กับร่างกาย

การศึกษาปริมาณเพ็กทินในมะเขือ ๓ ชนิด ได้แก่ มะเขือยาว มะเขือเปราะ และมะเขือพวง พบว่ามะเขือพวงมีปริมาณเพ็กทินสูงสุด มะเขือยาวมีปริมาณเพ็กทินน้อยกว่ามะเขือพวง 3 เท่า และมะเขือเปราะมีน้อยกว่า 65 เท่า จึงอาจกล่าวได้ว่า เพ็กทินในมะเขือพวงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มะเขือพวงมีคุณสมบัติลดน้ำตาล ลดคอเลสเตอรอล ลดความดันโลหิต และช่วยความสมดุลของระบบขับถ่ายดังที่ใช้กันในหลายประเทศ

มะเขือพวงกับโรคเบาหวาน

งานวิจัยที่ศึกษาปฏิกิริยาต้านอนุมูลอิสระของเครื่องดื่มจากมะเขือพวงแห้ง พบว่าน้ำสมุนไพรมะเขือพวงสามารถลดระดับอนุมูลอิสระซูเปอร์ออกไซด์ หรืออนุมูลอิสระไนทริกออกไซด์ในเลือดหนูที่เป็นเบาหวานได้ ซึ่งเป็นอนุมูลอิสระที่ก่อให้เกิดสภาวะเครียดในหนูทดลองที่มีอาการของโรคเบาหวาน ส่งผลต่อสภาวะเครียดออกซิเดชันในเม็ดเลือดแดง น้ำสมุนไพรมะเขือพวงลดไขมันที่ถูกออกซิไดซ์เป็นไขมันไม่ดีในหนูที่มีอาการเบาหวาน นอกจากนี้พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูเบาหวานลดลงด้วย

มะเขือพวงกับโรคความดันโลหิตสูงและปัญหาเกล็ดเลือด

งานวิจัยที่ประเทศแคเมอรูนพบว่า เมื่อให้สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของผลมะเขือพวงกับหนูทดลองพบว่าความดันโลหิตของหนูต่ำลง และลดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย โยฮิมบีนและอะโทรพีนไม่มีผลต่อฤทธิ์การลดความดันโลหิตของสารสกัดมะเขือพวง แต่โยฮิมบีนยับยั้งผลการลดอัตราการเต้นหัวใจของสารสกัดน้ำมะเขือพวง

เมื่อทดสอบการเกาะตัวของเกล็ดเลือดที่กระตุ้นโดยทรอมบินหรืออะดีโนซีนไตรฟอสเฟต พบว่าสารสกัดน้ำมะเขือพวงยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดจากผลของสารทั้งสองดังกล่าว ฤทธิ์ลดความดันโลหิตของสารสกัดผลมะเขือพวงทั้ง 2 ชนิดน่าจะเกิดจากการทำให้หัวใจเต้นช้าลง ผนวกกับผลยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดทำให้มะเขือพวงมีประโยชน์สำหรับผู้มีความดันโลหิตสูงและมีปัญหาเรื่องการรวมตัวของเกล็ดเลือด ตามที่มีการใช้งานมาแต่ดั้งเดิมนั่นเอง

มะเขือพวงต้านอนุมูลอิสระและต้านอักเสบ

งานวิจัยฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและปริมาณสารฟีนอลิกรวมสารสกัดแอลกอฮอล์ของผลมะเขือตากแห้งแช่แข็ง 11 ชนิดในประเทศไทยในปี พ.ศ.2551 พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากผลมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด และมีปริมาณรวมสารฟีนอลิกรวมสูงสุด

การศึกษาฤทธิ์ของมะเขือพวงโดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ.2552 พบว่า สารสกัดมะเขือพวงมีสารโพลีฟีนอลสูง สารสกัดยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโตโครมพี 450 2E1 ในไมโครโซมของตับ มีฤทธิ์ขจัดอนุมูลอิสระที่เกี่ยวข้องกับไลพิดเพอร์ออกซิเดชันและซูเปอร์ออกไซด์แอนไอออน ผู้วิจัยเชื่อว่าสารสกัดมะเขือพวงมีศักยภาพในการลดความเครียดออกซิเดชันในผู้ป่วยเบาหวาน

งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ.2552 พบว่าสารสกัดแอลกอฮอล์จากมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการผลิตไนตริกออกไซด์ และ TNF-? ในเซลล์มิวรีนมาโครฟาจที่ถูกกระตุ้นด้วยไลโพโพลีแซ็กคาไรด์ของแบคทีเรียในภาชนะเพาะเลี้ยง จึงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ

นอกจากนี้ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยป่าไม้ประเทศมาเลเซียพบว่าสารสกัดผลมะเขือพวงมีผลยับยั้ง platelet activating factor (PAF)  ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคหอบหืด การอักเสบเฉียบพลัน ภูมิแพ้และภาวะเลือดแข็งตัวอีกด้วย

มะเขือพวงบำรุงไต

งานวิจัยในอินเดียในปี พ.ศ.2545 พบว่าสารสกัดมะเขือพวงเมื่อให้ก่อนรับยามีความสามารถป้องกันและรักษาอาการพิษต่อไตที่เกิดจากยาคีโมรักษามะเร็งได้ การทดลองในหนูเมื่อให้ยาโดรูไบซิน พบว่าหนูทดลองเกิดการอุดตันในท่อไตและมีแผลในท่อไต เมื่อได้รับสารสกัดมะเขือพวงก่อนรับยาหนูไม่มีอาการดังกล่าว การศึกษานี้จึงสนับสนุนการใช้มะเขือพวงในการบำรุงไตของหลายประเทศ

มะเขือพวงรักษาแผลในกระเพาะอาหาร

กลุ่มวิจัยในแคเมอรูนในปี พ.ศ.2552 พบว่า สารสกัดน้ำและแอลกอฮอล์ของมะเขือพวงมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารที่เกิดจากแอลกอฮอล์ ยา และความเครียด ส่วนที่ให้ผลดังกล่าวเพราะมีองค์ประกอบเป็นสารกลุ่มฟลาโวนอยด์และไทรเทอร์พีน ผลวิจัยนี้สนับสนุนการใช้งานใบมะเขือพวงของแพทย์พื้นบ้านในประเทศแคเมอรูน

เด่นดังไปทั่วโลกแบบนี้ มีพกติดบ้าน ไว้โรยทุกเมนูอาหารของคุณ เปลี่ยนทุกมื้อให้เป็นยา อย่างคำกล่าวที่ว่า “ทานอาหารให้เป็นยา” ง่ายๆกับผักผงสวนในเวียง สั่งซื้อออนไลน์ได้ง่ายๆได้ที่ Line : https://bit.ly/2mLpi6O (@inwiangvalley) หรือ www.facebook.com/inwiangvalley